คอนกรีตผสมเสร็จ คืออะไร?
Tags: รู้ก่อนสั่งคอนกรีต
TABLE OF CONTENTS
สารบัญ
- ชื่อเรียกของคอนกรีตผสมเสร็จ
- วิวัฒนาการของคอนกรีตผสมเสร็จ
- ประวัติปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์
- ปูนกับคอนกรีต แตกต่างกันอย่างไร?
- อะไรคือคอนกรีตผสมเสร็จ
- กระบวนการผลิตปูนผสมเสร็จของบจก.สกุลชัยคอนกรีต
- ข้อมูลด้านเทคนิคของคอนกรีตผสมเสร็จสรุปข้อมูลด้านเทคนิคคอนกรีตผสมเสร็จ
- กำลังอัดของคอนกรีตผสมเสร็จ
- ค่ายุบตัวของปูนผสมเสร็จ Slump
- อายุกำลังอัดคอนกรีต
- คุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม
- รายการสินค้าคอนกรีตผสมเสร็จ แยกตามคุณสมบัติ
- งานแบบนี้ควรใช้สเต็งเท่าไร?
- เทพื้นโรงจอดรถ
- เทพื้นภายในบ้าน
- เทถนน
- เทโครงสร้าง
- ค่ายุบตัว Slump เท่าไรดี?
- เทพื้นหรือถนนที่มีความหนาตั้งแต่ 10 cm
- เทพื้นที่มีความหนาน้อยกว่า 10 cm
- เทโครงสร้างที่เสริมเหล็กไม่หนาแน่น
- เทโครงสร้างที่เสริมเหล็กหนาแน่น
- เทเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก
- เทคอนกรีตผ่านรถปั๊มคอนกรีต
- คอนกรีตผสมเสร็จเขาขายกันอย่างไร?
- ใช้ปูนกี่คิว คำนวณอย่างไร
- ปูน 1 คิว เทได้กี่ตารางเมตร
- เลือกคอนกรีตผสมเสร็จยี่ห้อไหนดี
- ปูนยี่ห้ออะไรดีที่สุด
- 8 ข้อดีของการใช้คอนกรีตผสมเสร็จ
ชื่อเรียกของ "คอนกรีตผสมเสร็จ"
ปูนผสมเสร็จ, ปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ, ปูนซีแพค, ปูน cpac = "คอนกรีตผสมเสร็จ"
คอนกรีตผสมเสร็จ นั้นมีหลายชื่อเรียกเนื่องจากเป็นวัสดุที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งโลก บางคนเรียกว่า ปูนผสมเสร็จ หรือ ปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ ในขณะที่ประเทศไทยนั้น บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด(มหาชน) หรือชื่อย่อ SCG เป็นผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายแรกในประเทศไทย และใช้ชื่อทางการค้าว่า ซีแพค หรือ cpac จึงทำให้คนไทยเรียกติดปากว่า ปูนซีแพค ซึ่งแม้ว่าต่อมาจะมีบริษัทอื่นๆ เช่น ปูนอินทรี INSEE Concrete ปูนทีพีไอ TPI Concrete ปูนดอกบัว BUA Concrete น่ำเฮงคอนกรีต วีคอนกรีต หรือแบรนด์ต่างๆอีกมากมาย เข้ามาทำตลาดในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างประเภทนี้ แต่คนไทยส่วนใหญ่ ก็ยังคงนิยมเรียกวัสดุชนิดนี้ว่า ปูนซีแพค เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามในต่างประเทศนั้น ใช้คำว่า Ready Mixed Concrete, RMC, หรือ Ready-mix concrete
วิวัฒนาการของ "คอนกรีตผสมเสร็จ"
ในสมัยอดีตนั้นการก่อสร้างในยุคโรมัน มนุษย์ก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่สามารถหาได้ตามธรรมชาติทั่วไป ยังไม่มี คอนกรีตผสมเสร็จ หรือ ปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ เหมือนในยุคปัจจุบันนี้ ดังนั้นการก่อสร้างจึงใช้หินแร่ ไม้ ใช้ดิน นำมาเรียงหรือยึดเข้าด้วย เพื่อก่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ตามการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาตินั้น ไม่สามารถตอบโจทย์การก่อสร้างได้ตลอดไป เนื่องจาก หากต้องการโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ จะยิ่งจำเป็นต้องใช้ปริมาณวัสดุหินแร่และทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งก็มีข้อเสียคือ น้ำหนักกดทับพื้นดินมหาศาล และพื้นที่ใช้สอยน้อย ยกตัวอย่างเช่น พิรามิดแห่งอียิปต์ หรือกำแพงเมืองจีน
ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดเป็นนวัตกรรมการก่อสร้างยุคใหม่ ซึ่งใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเป็นโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง ทำให้การก่อสร้างนั้นมีต้นทุนที่ถูกลง น้ำหนักเบาลง พื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และก่อสร้างได้ใหญ่โตมากขึ้น ซึ่งคอนกรีตเสริมเหล็กนี่แหละครับคือโครงสร้างที่เกิดจาก คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ หรือปูนซีแพค
ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คือส่วนผสมหลักของ คอนกรีตผสมเสร็จ
ดังนั้นเมื่อการก่อสร้างสมัยใหม่พัฒนาขึ้นจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ปูนปอร์ตแลนด์ portland cement ขึ้นมา ชื่อคุ้นหูใช้ไหมล่ะครับ ปูนช้างปอร์ตแลนด์ ปูนถุงปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 ยี่ห้อต่างๆที่มีขายตามท้องตลาดในไทย ปูนช้าง ปูนนกเพชร ปูนทีพีไอแดง อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมี ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์นั้น มีปูนชนิดหนึ่งซึ่งจดสิทธิบัตรก่อนนั่นก็คือ ปูนโรมัน roman cement แต่หลังจากนั้นเพียง 50 ปี ในปีค.ศ.1850 โลกก็มี นวัตกรรมที่เรียกว่า portland cement หรือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เป็นปูนที่เป็นส่วนผสมหลักของ ปูนผสมเสร็จ คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนซีแพค นั่นเองครับ
ภาพประกอบ
Isle of Portland, England ที่มาของชื่อ "ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์"
References
https://en.wikipedia.org/wiki/Isle_of_Portland
https://en.wikipedia.org/wiki/Portland_cement
ปูนกับคอนกรีต แตกต่างกันอย่างไร?
"ปูนคือส่วนผสมในคอนกรีตครับ"
หลายๆคนมักมีข้อสงสัยแน่นอนครับว่า ปูน กับ คอนกรีต แตกต่างกันอย่างไร หรือว่า สองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกัน ซึ่งความสับสนนี้อาจจะทำให้ซื้อวัสดุผิดประเภท หรือคุยกับช่างไม่รู้เรื่อง หัวข้อนี้มีเฉลยครับ ปูน ซึ่งหมายความ ปูนซีเมนต์ ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ เหมือนกับที่ผมได้กล่าวเอาไว้ในย่อหน้าก่อนหน้านี้ครับ ซึ่ง ปูนซิเมนต์ นั้นมีลักษณะเป็นผงสีเทา หรือ ขาว เกิดจากกระบวกการเผา และบดละเอียด หินปูน และดินเหนียว ซิลิกา อลูมินา และสารผสมเพิ่มอื่นๆ จนเกิดเป็นปูนซิเมนต์
ปูนซิเมนต์ เป็นส่วนประกอบใน คอนกรีตฯ หรือคอนกรีตผสมเสร็จ แต่คอนกรีตฯ ไม่ใช้ส่วนประกอบของปูนซิเมนต์ กล่าวคือ ในคอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ ปูนซีแพค ที่อยู่ในรถโม่ปูนหมุนๆนั้น มีส่วนประกอบหลักคือ ปูนซิเมนต์ และส่วนประกอบอื่นๆก็คือ หิน ทราย น้ำ น้ำยาผสมคอนกรีต
ปูนซิเมนต์ เป็นส่วนประกอบใน คอนกรีตฯ หรือคอนกรีตผสมเสร็จ แต่คอนกรีตฯ ไม่ใช้ส่วนประกอบของปูนซิเมนต์ กล่าวคือ ในคอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ ปูนซีแพค ที่อยู่ในรถโม่ปูนหมุนๆนั้น มีส่วนประกอบหลักคือ ปูนซิเมนต์ และส่วนประกอบอื่นๆก็คือ หิน ทราย น้ำ น้ำยาผสมคอนกรีต
ดังนั้นคลายข้อสงสัยกันแล้วนะครับ สรุปก็คือ ปูนซีเมนต์ คือส่วนประกอบของ คอนกรีตผสมเสร็จ หรือ ปูนซีแพค cpac นั่นเอง ซึ่งนั่นก็คือที่มาของการเรียก คอนกรีตผสมเสร็จ ว่า ปูนผสมเสร็จ หรือ ปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ นั่นเองครับ
References : https://theconstructor.org/concrete/
อะไรคือ คอนกรีตผสมเสร็จ
คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ หรือ ปูนซีแพค เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมของ ปูนซีเมนต์ หิน ทราย น้ำ และน้ำยาผสมคอนกรีต เมื่อวัตถุดิบเหล่านี้ได้ผสมกันแล้ว จะมีสถานะเป็นของไหล ซึ่งจะคงสถานะนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับสูตรส่วนผสมของคอนกรีตผสมเสร็จ โดยคอนกรีตผสมเสร็จหรือปูนผสมเสร็จนี้ จะถูกผสมโดยโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ หรือแพล้นปูน และลำเลียงใส่รถโม่ปูน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รถปูน ซีแพค ไปยังสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ห่างจากโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จไปเป็นระยะทางไม่เกิน 15 กิโลเมตร เนื่องจากคอนกรีตผสมเสร็จมีอายุคงสถานะของไหลได้เพียง 1-3 ชั่วโมง หลังจากที่คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จ ถูกเทลงบนโครงสร้างแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 60 นาที จึงจะเริ่มเปลี่ยนสถานะจากของไหลเป็นของแข็ง ซึ่งการเลือกซื้อคอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ หรือ ปูนซีแพคนั้น ราคาคอนกรีตจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดชั้นคุณภาพ ระยะเวลากำลังอัด ค่ายุบตัวของคอนกรีต และระยะทางจัดส่ง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติและราคาของคอนกรีตผสมเสร็จครับ
กระบวนการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จของบริษัท สกุลชัยคอนกรีต จำกัด
บริษัท สกุลชัยคอนกรีต จำกัด ใช้เครื่องผสมคอนกรีตและรถผสมคอนกรีต จากประเทศเยอรมัน ยี่ห้อ Teka และ Liebherr ในการผสมและจัดส่งคอนกรีตผสมเสร็จ ในส่วนของวัตถุดิบ มีการควบคุมคุณภาพ หิน ทราย น้ำ และน้ำยาผสมคอนกรีต ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ASTM C33 และ ASTM C494 ซึ่งกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนควบคุมการผลิตโดยวิศวกรคอนกรีตและทดสอบก้อนตัวอย่างคอนกรีต โดยคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข้อมูลด้านเทคนิค "คอนกรีตผสมเสร็จ"
ในเชิงเทคนิควิศวกรรมนั้นการกำหนดคุณสมบัติของคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จนั้น โดยมาตรฐานทั่วไปมีเกณฑ์หลักๆอยู่4ข้อ นั่นคือ 1.กำลังอัดคอนกรีต 2.ค่ายุบตัวคอนกรีต 3.ระยะเวลากำลังอัด 4.คุณสมบัติพิเศษ
1. Ultimate Strength กำลังอัดของคอนกรีต
Strength หรือ สเต็งคอนกรีต แปลว่าความแข็งแรง ซึ่งค่าสเต็ง Strength หรือความแข็งนั้นมีค่ามาตรฐานตั้งแต่ 180KSC จนถึง 400KSC หลายๆท่านที่อ่านอยู่อาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ค่า 180 หรือ 400 มาจากไหน และวัดอย่างไร ในหัวข้อนี้ผมมีคำอธิบายครับ
KSC ย่อมาจาก Kilogram per Square Centimetre หรือ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร กก/ตร.ซม. หลายๆท่านที่เคยสั่งคอนกรีตผสมเสร็จ อาจจะเคยเห็นผ่านๆตาว่าคอนกรีตผสมเสร็จ 240 ksc นั่นก็หมายความว่า ปูนผสมเสร็จสูตรนั้นสามารถรับกำลังอัด(สเต็ง) ได้ 240 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ครับ
240Cube/210Cylinder หลายคนอาจจะสงสัยว่า Cube คืออะไร Cylinder คืออะไร Cube แปลว่าลูกบาศก์ Cylinder แปลว่าทรงกระบอก ซึ่งในกระบวนการทดสอบก้อนคอนกรีตทางวิศวกรรมนั้น เราจะสามารถทดสอบได้ โดยการหล่อตัวอย่างคอนกรีตผสมเสร็จลงบนแบบหล่อ รูปทรง Cube หรือ Cylinder เมื่อคอนกรีตแข็งตัวได้ตามอายุที่กำหนดแล้วจึงนำไปทดสอบกำลังอัดว่าได้ค่า กำลังอัด กี่ ksc อย่างเช่นถ้าหากท่านผู้อ่านสั่งคอนกรีต 240Cube/210Cylinder นั่นแปลว่า เมื่อนำคอนกรีตผสมเสร็จชนิดนี้ไปทดสอบด้วยก้อนทรง Cubeจะสามารถทำกำลังอัด หรือสเต็งได้ 240 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร แต่ถ้านำไปทดสอบด้วยก้อนทรงกระบอก จะสามารถทำกำลังอัด หรือสเต็งได้ 210 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร นั่นเอง คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยต่อว่าแล้วทำไมถึงต้อง มีการทดสอบสองวิธีให้ยุ่งยาก นั่นก็คือว่าการทดสอบโดย Cube เป็นการทดสอบตามมาตรฐานของประเทศอังกฤษ British Standard แต่การทดสอบโดย Cylinder เป็นการทดสอบโดยมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา American Standard ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยจะนิยมใช้การทดสอบแบบ Cube ครับ
2. SLUMP หรือ ค่ายุบตัว
ค่ายุบตัวหรือสลั้มพ์ เป็นค่าที่บ่งบอกความลื่นไหลของ คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จ
สลั้มพ์ หรือค่ายุบตัวของคอนกรีต หรือพูดเป็นภาษาง่ายๆว่า ค่าความไหล หรือค่าความเหลว มีหน่วยวัดเป็นเซนติเมตร ท่านผู้อ่านหลายๆท่านอาจจะเคยเห็นคำว่า Slump 7 cm นั่นแปลว่า เมื่อทำการทดสอบ Slump ด้วยอุปกรณ์ทดสอบแล้ว ได้ค่ายุบตัว 7 เซนติเมตร หรือหากสเป็คคอนกรีตบอกว่า Slump 20+/-2.5 cm นั่นแปลว่า เมื่อทดสอบด้วยอุปกรณ์ทดสอบค่ายุบตัวแล้ว จะได้ค่า Slump อยู่ในช่วงตั้งแต่ 17.5 เซนติเมตร ถึง 22.5 เซนติเมตร ซึ่งโดยหลักการแล้ว ยิ่งค่า Slump มีค่ามากแปลว่า คอนกรีตมีความลื่นไหลได้มาก ยิ่งค่า Slump น้อย คอนกรีตก็มีความหนืดสูง ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ราคาคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จที่มีค่า Slump สูงจะมีราคาสูงกว่า คอนกรีตผสมเสร็จที่มีค่า Slump ต่ำ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเลือกใช้คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จที่มีค่า Slump เท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทงานเทคอนกรีต ซึ่งจะขอกล่าวในหัวข้อถัดไปครับ
3. AGE หรือ อายุกำลังอัดคอนกรีต
ต้องการคอนกรีตแข็งไวหรือช้ากำหนดที่ค่าอายุกำลังอัด
อายุของกำลังอัดคอนกรีต โดยส่วนใหญ่แล้ว การกำหนดค่าสเต็งที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ข้างต้นนั้น จะกำหนดไว้ให้ทดสอบได้เมื่อคอนกรีตมีอายุครบ 28 วัน ตามมาตรฐาน ACI 318 แต่อย่างไรก็ตาม คอนกรีตบางประเภทต้องการเร่งกำลังอัดสูงในระยะเวลาอันสั้น เช่น คอนกรีต Fast-Setting หรือคอนกรีต Post-Tension ต้องการรับกำลังอัด 240ksc (Cube) ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ก็จะสามารถทำได้ด้วยการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว ดังนั้นปูนผสมเสร็จสูตรดังกล่าวนี้จึงไม่จำเป็นต้องรอถึง 28 วัน เพียงแค่ 24 ชั่วโมงก็สามารถรับกำลังอัด สเต็งได้ 240 ksc แล้วนั่นเอง อย่างไรก็ดี คอนกรีตผสมเสร็จประเภทนี้นับว่าเป็นคอนกรีตผสมเสร็จสูตรพิเศษเฉพาะ ซึ่งย่อมมีราคาที่สูงกว่าคอนกรีตประเภทปกติครับ
4. คุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม
การออกแบบส่วนผสมคอนกรีตให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท เพื่อโครงสร้างที่แข็งแรงทนทาน ยั่งยืน
ปูนผสมเสร็จแต่ละประเภทมีลักษณะการนำไปใช้งาน ไม่เหมือนกัน เช่น คอนกรีตประเภทกันซึม คอนกรีตปั๊ม คอนกรีตเข็มเจาะขนาดเล็ก คอนกรีตเข็มเจาะขนาดใหญ่ระบบเปียก คอนกรีตห้องเย็น คอนกรีตความร้อนต่ำ ฯลฯ ดังนั้นการออกแบบน้ำยาส่วนผสมเพิ่มตามมาตรฐาน ASTM C494 หรือการปรับอัตราส่วนผสมพิเศษ จึงเป็นการเพิ่มคุณสมบัติของคอนกรีตให้เหมาะสมกับสภาวะการใช้งานณ.โครงสร้างนั้นๆ ซึ่งก็จะทำให้ราคาปูนผสมเสร็จ หรือคอนกรีตผสมเสร็จนั้น แตกต่างกันไป ขึ้นกับคุณสมบัติพิเศษที่ลูกค้าต้องการ
สรุปข้อมูลด้านเทคนิคของ คอนกรีตผสมเสร็จ
โดยสรุปแล้วการเลือกใช้คอนกรีตผสมเสร็จซึ่งมีหลายคุณลักษณะให้เลือก ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น สามารถอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายได้ดังนี้
1. สเต็ง = ปูนแข็งมา-แข็งน้อย 2. สลัมพ์ = ลื่นไหลมาก-ลื่นไหลน้อย 3. อายุ = แข็งไว-แข็งช้า
เพียงเท่านี้คุณผู้อ่านก็น่าจะพอทราบคร่าวๆใช่ไหมล่ะครับว่าคุณลักษณะของคอนกรีตผสมเสร็จ เขากำหนดกันอย่างไรบ้าง
ในส่วนของการเลือกคุณลักษณะของคอนกรีตผสมเสร็จให้เหมาะกับงานนั้น ผมขอกล่าวในหัวข้อถัดไปครับ
รายการสินค้าคอนกรีตผสมเสร็จ แยกตามคุณสมบัติ
กรณีลูกค้าโครงการสามารถสั่งออกแบบส่วนผสมคอนกรีตพิเศษเฉพาะสำหรับโครงการที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษแตกต่างไปจากที่ระบุเอาไว้ได้ โดยบริษัทฯมีวิศวกรคอยให้คำแนะนำปรึกษา
Ultimate Strength ค่ากำลังอัดคอนกรีต
1. 180Cube/140Cylinder
2. 210Cube/180Cylinder
3. 240Cube/210Cylinder
4. 280Cube/240Cylinder
5. 300Cube/250Cylinder
6. 320Cube/280Cylinder
7. 350Cube/300Cylinder
8. 380Cube/320Cylinder
9. 400Cube/350Cylinder
Slump ค่ายุบตัว
1. 5.0-10.0 cm
2. 7.5-12.5 cm
3. 10.0-15.0 cm
4. 12.5-17.5 cm
5. 15.0-20.0 cm
Age ระยะเวลากำลังอัด
1. 16 ชั่วโมง
2. 24 ชั่วโมง
3. 3 วัน
4. 28 วัน
Admixtures คุณสมบัติพิเศษ
1. คอนกรีตสำหรับงานกันซึม
2. คอนกรีตสำหรับงานเข็มเจาะเล็ก
3. คอนกรีตสำหรับงานเข็มเจาะใหญ่
4. คอนกรีตสำหรับงานเททับหน้า topping
5. คอนกรีตเร่งกำลังอัด
6. คอนกรีตสำหรับงานปั๊มคอนกรีต
7. คอนกรีตสำหรับห้องเย็น
8. คอนกรีตเสริมเส้นใย FRC
9. คอนกรีตความร้อนต่ำ
งานแบบนี้ควรใช้สเต็งเท่าไร?
การกำหนดสเต็งหรือค่ากำลังอัดของคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จ โดยปกติแล้วต้องกำหนดวิศวกรโยธา เป็นผู้ออกแบบโครงสร้างเหล่านั้นว่าต้องการรับกำลังอัดเท่าไร เพื่อที่จะได้กำหนดสเป็คกำลังอัดของปูนผสมเสร็จ หรือ ปูนซีแพค แต่อย่างไรก็ตามนั้น สำหรับโครงสร้างง่ายๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก หรือบ้านสองชั้นทั่วๆไป ไม่ใช้อาคารสาธารณะนั้น เรามักจะมีสเต็งปูนมาตรฐานที่เหมาะสม นิยมใช้โดยทั่วไป ซึ่งผมจะแนะนำเพื่อเป็นไอเดีย หรือใช้เพื่ออ้างอิงตรวจสอบงานช่างผู้รับเหมา สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้านด้วยตัวเองครับ
เทพื้นโรงจอดรถ
ปูนผสมเสร็จ 240 Cube
เจ้าของบ้านหลายท่านสอบถามกันเข้ามามากมายเลยครับว่า เทพื้นโรงจอดรถนั้นควรใช้ ปูนผสมเสร็จ หรือ ปูนซีแพค กำลังอัดเท่าไรถึงจะเพียงพอ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คอนกรีตที่เหมาะกับการเทพื้นโรงจอดรถทั่วๆไปนั้น มักจะใช้เป็นคอนกรีตกำลังอัด 240Cube/210Cylinder แต่ถ้าหากเจ้าของบ้านท่านใดอยากเพิ่มความ แข็งแรงมากขึ้น ก็อาจจะใช้เป็น 280Cube/240Cylinder ก็ได้ อย่างไรก็ตามความสำคัญของการเทพื้นด้วยปูนผสมเสร็จนั้น คือการเสริมเหล็กกันร้าว(เหล็กตะแกรง 4 มม.) และมีระยะจาก เหล็กถึงผิวคอนกรีตที่ได้มาตรฐาน(ประมาณ 3 เซนติเมตร) โดยใช้ลูกปูนหนุน เหล็กตะแกรงเป็นระยะเพื่อให้เหล็กเสริมไม่วางติดพื้น นอกจากนั้นควรบ่มพื้นคอนกรีตหลังเทเสร็จ เพื่อให้พื้นคอนกรีตสามารถรับกำลังอัดได้ดีและทนทานมากยิ่งขึ้น
เทพื้นภายในบ้าน
ปูนผสมเสร็จ 180 Cube
กรณีเป็นงานเทพื้นซึ่งไม่ต้องการรับน้ำหนัก หรือแรงอัดมาก เช่นการเทพื้นภายในบ้านเพื่อปูกระเบื้อง ทับ หรือเทพื้นคอนกรีตเพื่อเป็นทางเดิน ผมแนะนำคอนกรีตสเป็คต่ำที่สุด นั่นก็คือ 180Cube/140Cylinder ซึ่งจะทำให้เจ้าของบ้านสามารถประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างลงได้ และลดการใช้วัสดุที่แข็งแรงเกินความจำเป็น หากคุณผู้อ่านกังวลว่าใช้คอนกรีตสเป็คต่ำสุด 180 Cube แล้วจะร้าวไหม ผมขออธิบายในเชิงวิศวกรรมให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจครับว่า การร้าวส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกิดจากคอนกรีตรับแรงอัดไม่ไหว แต่เกิดจากการรับแรงดึงไม่ไหว แรงดึงในที่นี้เกิดจากการที่คอนกรีตมีการหดและขยายตัวอันเนื่องจากความร้อนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการเสริมเหล็กตะแกรงนั่นเอง ถ้าพูดในเชิงเทคนิควิศวกรรม ก็คือ โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางอยู่บนดิน หรือโครงสร้างใดๆ ซึ่งพื้นกำลังอัด 180 Cube นี้สามารถถ่ายแรง ถ่ายน้ำหนักแบบ Uniform load ได้ทั่วทั้งแผ่นคอนกรีต ซึ่งแรงที่เกิดขึ้นเป็นแรงอัด อันเกิดจากน้ำหนักกดทับลงตรงๆ ไม่ใช้แรงอัดจากการเกิด Moment ดังนั้นตามทฤษฏีแล้ว คอนกรีตกำลังอัด 180 ksc (กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร) ก็สามารถรับน้ำหนักรถสิบล้อขนาด 25 ตันได้ครับ
เทถนน
ปูนผสมเสร็จ 280 Cube
โดยส่วนใหญ่แล้วงานเทถนนมักนิยมใช้คอนกรีตกำลังอัด 280Cube/240Cylinder อันเนื่องจาก ถนนคอนกรีตนั้นจำเป็นต้องรองรับแรงสั่นสะเทือนของการเคลื่อนไหวจากรถยนต์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแรงกดทับขึ้นมากกว่าปกติ ดังนั้นงานเทถนนจึงแนะนำคอนกรีตกำลังอัด 280 Cube ขึ้นไป และควรเทหนาอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้แผ่นถนนคอนกรีตสามารถกระจากแรงหรือน้ำหนักต่อลงบนดินได้อย่างเท่ากันทั่วทั้งแผ่น ซึ่งจะลดปัญหาดินทรุด ดินเป็นโพรง หรือแผ่นถนนคอนกรีตหักได้
เทโครงสร้าง
ปูนผสมเสร็จ 280 Cube
การเทคอนกรีตโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านควรให้ความใส่ใจในการควบคุมคุณภาพการ เทคอนกรีตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการควบคุมการทำงานของช่างผู้รับเหมา หรือแรงงาน เนื่องจาก การเทคอนกรีตโครงสร้างนั้น ความแข็งแรงของคอนกรีตเป็นเรื่องที่ต้องห้ามพลาด โดยทั่วไปแล้วการสร้างบ้านขนาดไม่เกิน 2 ชั้น โครงสร้างส่วนใหญ่ทั่วทั้งบ้าน จะนิยมใช้คอนกรีตกำลังอัด 280 Cube เป็นขั้นต่ำ ตั้งแต่ฐานราก เสา คาน หรือพื้นโครงสร้าง ความสำคัญของการเทคอนกรีตโครงสร้างให้มีความแข็งแรงคือการควรคุมหน้างาน ไม่ให้เติมน้ำ เนื่องจากคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูน ซีแพค ที่ผสมออกจากโรงงาน จะได้รับการผสมน้ำในอัตราส่วนที่ เหมาะสมแล้ว การเติมน้ำเพิ่มจะทำให้ค่ากำลังอัดของคอนกรีตผสมเสร็จนั้นผิดเพี้ยนไปจากที่ วิศวกรของแพล้นปูนได้ออกแบบเอาไว้ ซึ่งจะมีผลให้ค่ากำลังอัดลดลงมาก และส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างคอนกรีตตามมา เมื่อเทคอนกรีตเสร็จเรียบร้อยหลังจากแกะแบบแล้วควรมีการบ่มน้ำอย่างน้อย 7-14 วัน เพื่อให้คอนกรีตได้ค่ากำลังอัดตามที่ต้องการครับ
Slump(ค่ายุบตัว) เท่าไรดี?
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการเลือกคุณสมบัติคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จให้เหมาะสมกับงาน คือการเลือกค่าสลั้มพ์ Slump ให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะจะทำให้การทำงานง่าย สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพครับ ในหัวข้อนี้ ผมจะยกตัวอย่างโครงสร้างทั่วไปที่ใช้กันเป็นประจำว่าควรเลือก Slump เท่าไรจึงจะเหมาะสม
เทพื้นหรือถนนที่มีความหนาตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป เลือกใช้ Slump 5.0-10.0 cm
การเทถนนโดยทั่วไปแล้ว รถโม่ปูนสามารถจอดถึงตำแหน่งที่เทได้ เทคอนกรีตลงบนพื้นถนนได้เลย และไม่มีเหล็กเสริมที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งอย่างมากอาจจะมีการเสริมเหล็กสองชั้น ซึ่งคอนกรีตสลัมพ์ 5.0-10.0 cm สามารถเทได้สบาย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คอนกรีตสลัมพ์สูงกว่านี้ เพราะอาจจะทำให้สิ้นเปลือง ค่าคอนกรีตผสมเสร็จโดยใช่เหตุเนื่องจาก ปูนผสมเสร็จที่มีสลัมพ์สูง ก็ยิ่งมีราคาที่สูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การเทถนนด้วยคอนกรีตผสมเสร็จสลัมพ์ 5.0-10.0 เซนติเมตร ควรจะทำการจี้เขย่าด้วย เครื่องสั่นปูนอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแนว เพื่อให้ไม่เกิดโพรงขึ้นภายในเนื้อถนนคอนกรีต
เทพื้นที่มีความหนาต่ำกว่า 10 เซนติเมตร เลือกใช้ Slump 7.5-10.0 cm
การเทพื้นทั่วไปที่มีความหนาไม่เกิน 10 เซนติเมตรนั้น ซึ่งอาจจะเป็นพื้นโรงจอดรถ พื้นทางเดิน หรือพื้นบ้านทั่วไป ผมแนะนำให้สั่ง ปูนซีแพค หรือคอนกรีตผสมเสร็จที่มีค่า สลัมพ์ตั้งแต่ 7.5-10.0 เซนติเมตร เพื่อให้ช่างสามารถทำงานได้อย่างสะดวก ปาดง่าย โกยง่าย ลดโอกาสการเกิดโพรงในเนื้อคอนกรีต หรือคอนกรีตไม่เรียบ ไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การเทพื้นคอนกรีตที่มีความบางมากนั้น ช่างไม่สามารถใช้เครื่อง จี้เขย่าได้เนื่องจากการจี้เขย่าทำได้ยาก ช่างส่วนใหญ่จึงนิยมเติมน้ำเพิ่ม เข้าไปในรถโม่ เพื่อให้คอนกรีตมีความไหลมากขึ้น ซึ่งต้องแลกมาด้วยความแข็งแรงที่ลดลง ดังนั้น ผมจึงแนะนำให้ท่านผู้อ่าน สั่งคอนกรีตสลัมพ์ 10 ตั้งแต่ที่แพล้น เพื่อที่จะได้คอนกรีตผสมเสร็จที่มีคุณภาพ ไม่ต้องเติมน้ำเพิ่มให้สูญเสียคุณภาพที่หน้างานครับ
เทโครงสร้างที่มีเหล็กไม่หนาแน่น เลือกใช้ Slump 5.0-10.0 cm
การเทโครงสร้างทั่วไปที่ไม่ได้เสริมเหล็กหนาแน่นมากนั้น เราสามารถใช้เครื่องจี้เขย่า จี้ให้ทั่วเนื้อคอนกรีตเพื่อให้เนื้อคอนกรีตสม่ำเสมอ เป็นเนื้อเดียวกันได้ เช่น ฐานราก หรือคาน แต่ถ้าหากเป็นเสา ช่างอาจจะใช้ค้อนยาง เคาะข้างๆแบบหล่อเสา เพื่อให้เนื้อคอนกรีตไหลมาเติมเต็มช่องว่างให้เต็ม หรืออาจจะใช้เครื่องจี้ จี้ที่ข้างๆแบบหล่อ เพื่อให้เนื้อคอนกรีต ไม่เกิดโพรงช่องว่าง หรือโพรงรังผึ้ง ดังนั้น การเทโครงสร้างที่มีเหล็กไม่หนาแน่น สามารถเลือกใช้คอนกรีตสลัมพ์ธรรมดา Slump 5.0-10.0 cm ได้ครับ
เทโครงสร้างที่มีเหล็กหนาแน่น เลือกใช้ Slump 15.0-20.0 cm
กรณีเป็นโครงสร้างที่มีเหล็กหนาแน่นนั้น เครื่องจี้เขย่าอาจจะไม่สามารถเข้าถึงทุกซอกทุกมุมของ โครงสร้างได้ ท่านผู้อ่านอาจจะจำเป็นต้องเลือกคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จ ที่มีค่า สลัมพ์ สูงตั้งแต่ 15.0-20.0 เซนติเมตร เพื่อให้เนื่อคอนกรีตผสมเสร็จสามารถแทรกซึมไปยังช่องว่างต่างๆรอบๆ เหล็กเสริมได้ อย่างไรก็ตาม ควรจะใช้เครื่องจี้เขย่าปูน จี้เนื้อปูนไปพร้อมกันด้วยเพื่อให้เนื้อคอนกรีต มีความสมบูรณ์ที่สุด เมื่อแกะแบบออกมาแล้ว ผิวคอนกรีตโครงสร้างนั้นจะมีความเรียบเนียนสวยงาม สามารถโชว์ผิวปูนเปลือยได้ครับ
เทเสาเข็มเจาะขนาดเล็กเลือกใช้ Slump 7.5 - 12.5 cm
การเทเสาเข็มเจาะนั้นโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นเสาเข็มเจาะใหญ่ และเสาเข็มเจาะเล็ก ซึ่งในที่นี้ผมขอพูดถึงเสาเข็มเจาะเล็ก ซึ่งมีหลักการออกแบบของคอนกรีตที่คล้ายๆกัน การเทคอนกรีตผสมเสร็จลงในเสาเข็มเจาะนั้น เป็นการปล่อยคอนกรีตจากที่สูง ลงสู่ก้นหลุม ซึ่งมีระยะตกค่อนข้างสูง ซึ่งโดยปกติจะมากกว่า 10 เมตร ซึ่งการปล่อยปูนผสมเสร็จ ไหลจากที่สูง โดยอิสระนั้น อาจจะส่งผลให้คอนกรีตเกิดการแยกตัวได้ และมากไปกว่านั้น เมื่อปูนผสมเสร็จตกลงสู่ก้นหลุมเข็มเจาะ ช่างก่อสร้างไม่สามารถหย่อนเครื่องจี้เขย่าตามลงไปได้ ดังนั้น การออกแบบคอนกรีตสำหรับงานเข็มเจาะจึงจำเป็นต้องให้มั่นใจว่าคอนกรีตที่อยู่ภายในหลุม ของเสาเข็มเจาะนั้นมีความสมบูรณ์ได้โดยตัวเอง โดยไม่ต้องจี้เขย่า เพื่อให้เสาเข็มไม่มีรูโพรง และรับน้ำหนักได้ตามที่วิศวกรออกแบบเอาไว้
เทคอนกรีตผ่านรถปั๊มคอนกรีต เลือกใช้ Slump 7.5-12.5 cm
การเทคอนกรีตผสมเสร็จผ่านท่อปั๊มคอนกรีต ซึ่งโดยทั่วไปแล้วท่อปั๊มคอนกรีตจะมีขนาด 4 นิ้ว การเลือกใช้คอนกรีตสลัมพ์ ต่ำกว่า 7.5 cm นั้น อาจจะทำให้คอนกรีตไปอุดตันในท่อปั๊มได้ เนื่องจากคอนกรีตประกอบด้วย หิน และ ทราย ซึ่งเมื่ออยู่ในท่อนั้นจะมีความหนืด และฝืด ดังนั้น การเทคอนกรีตผ่านท่อปั๊มคอนกรีตควรจะเลือกใช้คอนกรีตผสมเสร็จที่มีค่าสลัมพ์อย่างน้อย 7.5 cm ขึ้นไปครับ เพื่อให้งานเทคอนกรีตราบรื่น ไม่ติดขัด
จะซื้อคอนกรีตผสมเสร็จ เขาขายกันอย่างไร
คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่า คอนกรีตผสมเสร็จนั้นเขาขายกันอย่างไร คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ หรือ ปูน ซีแพค นั้น เขาขายกันเป็นคิวครับ มีลูกค้าผมหลายคนไม่เข้าใจ บางท่านถามว่า ปูน 1 รถโม่ เทได้เท่าไร? ซึ่งผมเองก็ไม่สามารถตอบได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับว่า ใน รถโม่ปูนคันนั้น บรรทุก คอนกรีตผสมเสร็จ มาเป็นจำนวนกี่คิว ดังนั้นวันนี้เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าครับว่า “คิว” ของ คอนกรีตผสมเสร็จ หรือ ปูนผสมเสร็จนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ปูน 1 คิว หมายถึง คอนกรีตผสมเสร็จ ปริมาตร 1 ลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) บางท่านอาจจะสงสัยต่อว่า ลูกบากศ์เมตร คืออะไร ผมขออธิบายง่ายๆดังนี้ครับ หากเราเอากล่องสี่เหลี่ยมจตุรัส หนึ่งใบ ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร สูง 1 เมตร มาใส่ คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จ จนเต็มกล่องพอดี นี่แหละครับ เรียกว่า ปูน 1 คิว หรือคอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ 1 คิว ดังนั้นเวลาเราสั่ง คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ หรือ ปูน ซีแพค นั้น เราจะต้องวัดปริมาตรจากพื้นที่ๆต้องการจะเทคอนกรีต และแจ้งจำนวนที่ต้องการสั่งคอนกรีตฯ เป็นจำนวนคิว ซึ่งผมจะอธิบายวิธีการวัดพื้นที่ในหัวข้อถัดไปครับ
ใช้ปูน (คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ) กี่คิว คำนวณอย่างไร
ในเว็ปไซต์นี้ ได้อธิบายวิธีการคำนวณปริมาณ คอนกรีตผสมเสร็จ หรือ ปูนผสมเสร็จ ไว้อยู่ในหัวข้อ “ใช้จำนวนกี่คิว” ซึ่งอยู่ภายในเมนู “จะสั่งคอนกรีตต้องรู้” มีรูปภาพและคำอธิยายอย่างละเอียดครับ อย่างไรก็ตามในบทความย่อหน้านี้ผมขออธิบายสั้นๆแล้วกันนะครับ ในการคำนวณปริมาณการใช้ คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จนั้น อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในย่อหน้าก่อนหน้านี้ว่า เราใช้หน่วยวัดกันเป็นคิว หรือ ภาษาทางวิทยาศาตร์คือ ลูกบาศก์เมตร cubic metre ซึ่งวิธีคำนวณปริมาตรทางเรขาคณิตทั่วไปคือการนำด้านทั่งสามด้านมาคูณกัน (ด้านxด้านxด้าน) เช่น เสา(ด้านxด้านxสูง) หรือ พื้น(กว้างxยาวxหนา) หรือ คาน(กว้างxลึกxยาว) ฯลฯ โดยการคำนวณนั้น ตัวที่นำมาคูณจะต้องมีหน่วยเป็นเมตร ยกตัวอย่างเช่น เทพื้น กว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร หนา 15 เซนติเมตร เวลานำมาคูณกัน ก็จะได้เป็น 6x6x0.15 ซึ่งสาเหตุที่ต้องเป็น 0.15 เนื่องจาก เราจะต้องแปลงเซนติเมตร ให้เป็นเมตรก่อนนั่นเอง ในที่นี้จะคำนวณได้ปริมาตรคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จ จำนวน 5.4 คิว ครับ
คอนกรีตผสมเสร็จ 1 คิว เทได้กี่ตารางเมตร
โดยปกติแล้วนั้นการคำนวณปริมาณคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จสามารถคำนวณได้จากสูตรการหาปริมาตรทางเรขาคณิตที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น แต่ถ้าหากคุณผู้อ่านหรือลูกค้าท่านใดต้องการทราบคร่าวๆว่า ปูนผสมเสร็จ หรือ คอนกรีตผสมเสร็จ 1 คิวสามารถเทได้กี่ตารางเมตร ผมได้คำนวณไว้ให้ดังนี้
กรณีเทพื้นคอนกรีตที่มีความหนา 5 เซนติเมตร จะสามารถเทได้ประมาณ 20 ตารางเมตร
กรณีเทพื้นคอนกรีตที่มีความหนา 10 เซนติเมตร จะสามารถเทได้ประมาณ 10 ตารางเมตร
กรณีเทพื้นคอนกรีตที่มีความหนา 15 เซนติเมตร จะสามารถเทได้ประมาณ 6.6 ตารางเมตร
กรณีเทพื้นคอนกรีตที่มีความหนา 20 เซนติเมตร จะสามารถเทได้ประมาณ 5 ตารางเมตร
ดังนั้นคุณผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้ว่า หากต้องการพื้นที่มีความหนามากขึ้น แข็งแรงทนทานมากขึ้น จะต้องใช้ปริมาณ ปูน ซีแพค มากขึ้นพอสมควร อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นการเทพื้นทั่วไป ไม่ได้รับน้ำหนักเยอะมาก โดยทั่วไปแล้ว พื้นโรงจอดรถ จะเทหนาประมาณ 10 เซนติเมตร
เลือกคอนกรีตผสมเสร็จยี่ห้อไหนดี
ในปัจจุบันพื้นที่เขตกรุงเทพปริมณฑล มีคอนกรีตผสมเสร็จหลากหลายยี่ห้อให้คุณผู้อ่านได้เลือกใช้งาน ซึ่งคอนกรีตฯแต่ละยี่ห้อนั้นจะมีรายการสินค้าที่แทบจะเหมือนกันทั้งหมด โดยเฉพาะคอนกรีตสูตรมาตรฐานทั่วไป เช่น คอนกรีตทั่วไปกำลังอัด 240cube slump 5.0-10.0 cm ซึ่งมีผลิตโดยทั่วไปทุกโรงงาน ซึ่งในแต่ละยี่ห้อนั้น จะต้องผลิตคอนกรีตให้ได้ตามมาตรฐานตามชื่อของสินค้านั้นๆ นั่นเอง ในการวัดคุณภาพของคอนกรีตผสมเสร็จ คุณผู้อ่านต้องดู 3 อย่างครับ ได้แก่
1. การวัดค่ากำลังอัดคอนกรีต
สเต็งหรือกำลังอัดของคอนกรีตซึ่งจะสามารถวัดได้โดยการทดสอบกำลังอัด ซึ่งลูกค้าสามารถทดสอบได้โดยแจ้งกับทางผู้ขายให้เป็นผู้ทดสอบให้ หรือเก็บก้อนตัวอย่างเพื่อนำไปทดสอบที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายตามที่แต่ละบริษัทฯเป็นผู้กำหนด
2. การวัดค่ายุบตัวคอนกรีต
สลัมพ์ หรือค่ายุบตัวของคอนกรีต โดยสามารถแจ้งพนักงานฝ่ายควบคุมคุณภาพของบริษัทฯผู้ผลิต มาประจำที่ไซต์งานเพื่อทดสอบ Slump ของคอนกรีตผสมเสร็จ ว่าได้ตรงตามที่สั่งหรือไม่
3. การตรวจสอบปริมาณคอนกรีต
ปริมาณของคอนกรีตผสมเสร็จเต็มคิวหรือไม่นั้น คุณผู้อ่านสามารถตรวจสอบได้ด้วยตาเมื่อเทคอนกรีตเสร็จเรียบร้อย หากสามารถเทได้เต็มพื้นที่ตามที่คุณผู้อ่านได้คำนวณเอาไว้ ก็ถือว่าปริมาณเต็มคิว หากเทได้ไม่เต็มพื้นที่ จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่แพล้นตรวจสอบ
4.บริการ และ 5.ราคา
โดยรวมแล้วปัจจัยเรื่องคุณภาพที่คุณผู้อ่านต้องตรวจสอบมีอยู่ 3 ประการดังที่ได้กล่าวไป แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงอีกสองประการคือ บริการและราคา บริการในที่นี้หมายถึงความรวดเร็วในการจัดส่ง คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จ ซึ่งโดยปกติแล้ว คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนผสมเสร็จ หรือปูนซีแพค นั้นเป็นสินค้าที่ผลิตเมื่อต้องการใช้ ซึ่งจะมีระยะเวลาการหมดอายุเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมงนับจากเวลาผลิต คอนกรีตผสมเสร็จ จะเริ่มแข็งตัว และไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้นระยะทางในการจัดส่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ นั้นควรที่จะอยู่ไม่ไกลจากไซตงานก่อสร้าง หรือบ้านของคุณผู้อ่าน เพื่อที่จะให้คุณผู้อ่านมีระยะเวลา ในการใช้งานคอนกรีต หากการเดินทางขนส่งนานเกินไป ก็จะทำให้เหลือเวลาในการเทคอนกรีตน้อย ลงนั่นเอง
โดยสรุปแล้วเลือกปูนผสมเสร็จยี่ห้ออะไรดีสุด?
ดังที่กล่าวไปข้างต้นเรื่องคุณภาพของคอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จนั้น ผู้ผลิตในแต่ละราย ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑลนั้น จะได้คุณภาพตามมาตรฐานทุกยี่ห้อ เช่น ซีแพค อินทรี ทีพีไอ น่ำเฮง บัวคอนกรีต วีคอนกรีต แต่สิ่งที่ลูกค้าต้องคำนึงถึงคือ ระยะทางจากแพล้นและราคา ซึ่งถ้าหากว่าลูกค้าจำเป็นต้องใช้คอนกรีตระยะเวลานาน เช่นงานเทคาน หรือเทเสา ควรจะเลือกแพล้นที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อที่จะได้มีระยะเวลาในการเทเต็ม 2 ชั่วโมง แต่ถ้าหาก งานเทคอนกรีตของท่านผู้งานเป็นงานเทพื้น ก็สามารถจะเลือกใช้แพล้นที่อยู่ห่างออกไปได้ และเลือกราคาที่ถูกลง โดยสรุปแล้วจากประสบการณ์การใช้คอนกรีตผสมเสร็จหลากหลายยี่ห้อ รวมทั้งการเป็นวิศวกรคอนกรีต ควบคุมการผลิต และทดสอบคอนกรีตมากว่า 1000 ตัวอย่าง ผมยืนยันว่า คอนกรีตผสมเสร็จแทบจะทุกยี่ห้อ ที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล มีคุณภาพและได้มาตรฐานในการผลิตแทบจะทุกแห่งครับ สิ่งที่แตกต่างคือบริการและราคาครับ
ปูนยี่ห้ออะไรดีที่สุด?
ลูกค้ามักจะถามค่อนข้างบ่อย เกี่ยวกับยี่ห้อปูนซิเมนต์ ซึ่งลูกค้าหรือคุณผู้อ่านหลายท่านมักจะสับสนเกี่ยวกับ คอนกรีตผสมเสร็จ กับ ปูนซิเมนต์ อย่างที่ผมได้กล่าวไปครับว่า ปูนซิเมนต์นั้น เป็นส่วนประกอบหลักของคอนกรีตผสมเสร็จ และยี่ห้อปูนซิเมนต์ไม่ใช่สิ่งยืนยันคุณภาพของคอนกรีตผสมเสร็จ โรงงานคอนกรีตผสมเสร็จในประเทศไทยเกือบทั้งหมด ใช้ปูนซิเมนต์จาก 4 ยี่ห้อหลักๆ คือ ปูนเอสซีจี ปูนอินทรีนครหลวง ปูนทีพีไอ ปูนเอเซีย ซึ่งปูนซิเมนต์ทุกแบรนด์มีคุณภาพเกินมาตรฐานของไทยทั้งหมด แต่ ไม่ได้หมายความว่าการใช้ปูนที่มีคุณภาพมาผลิตเป็นคอนกรีตผสมเสร็จ แล้วคอนกรีตผสมเสร็จจะมีคุณภาพได้มาตรฐาน เนื่องจากกระบวนการผลิตปูนผสมเสร็จน้ัน มีปัจจัยที่ ควบคุมคุณภาพหลายด้าน เช่น วัสดุ หิน ทราย น้ำ น้ำยาผสมเพิ่ม ปริมาณปูนซิเมนต์ กระบวนการผสม เครื่องจักรในการผสม
ปูนคุณภาพดี ไม่ได้แปลว่าคอนกรีตจะดี เพราะคอนกรีตยังมีส่วนผสมอื่นๆที่ต้องควบคุม
ดังนั้นการถามเพียงแค่ว่าใช้ปูนยี่ห้ออะไรนั้น ไม่สามารถวัดคุณภาพคอนกรีตผสมเสร็จได้ สิ่งที่จะวัดได้นั้นคือ ท่านผู้อ่านสามารถขอดูผลงานการเทคอนกรีตที่ผ่านมา ขอใบ mix design ดูส่วนผสมในการผลิต หรือขอให้ทำการทดสอบคอนกรีตขณะเท ซึ่งจะบอกถึงคุณภาพได้ชัดเจนกว่า
References ภาพประกอบ จาก
https://www.onestockhome.com/th/categories/cement/sub_categories/asia-cement/product_types/asia-cement-portland-cement
https://app.builk.com/bypasshome/products/2038467?lang=TH
http://www.meteekulshop.com/index.php?mo=28&id=1690077
https://app.builk.com/dohome/products/2017673?lang=TH
8 ข้อดีของการใช้คอนกรีตผสมเสร็จ
เร็ว + ประหยัด + คุณภาพดี
1. ลดปริมาณวัสดุเหลือทิ้ง
การจะผสมคอนกรีต หรือผสมปูนนั้น จำเป็นต้องใช้วัสดุเช่น ปูน หิน ทราย น้ำ มาเป็นส่วนผสม ซึ่งหากคุณผู้อ่านต้องการที่จะผสมปูนเองนั้น การกะปริมาณของปูนที่จะต้องการใช้นั้นเป็นเรื่อง ค่อนข้างยากที่จะไม่ให้มีวัสดุเหลือทิ้ง เช่น หากคุณผู้อ่านต้องการใช้ทรายหยาบ 1.5 คิว แต่ร้านวัสดุอาจจะส่งให้ลูกค้าได้ขั้นต่ำ 2 คิว ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีทรายหยาบเหลือทิ้ง 0.5 คิว ต้องเป็นภาระในการนำวัสดุไปกำจัด ดังนั้นการใช้คอนกรีตผสมเสร็จหรือปูนผสมเสร็จจะสะดวกลูกค้าในเรื่องของวัสดุเหลือทิ้งอย่างมาก เนื่องจากคุณผู้อ่านสามารถคำนวณปริมาณคอนกรีตที่ต้องการใช้เป็นจำนวนที่พอดีได้ ไม่เหลือหรือขาดวัสดุใดๆ
2. หน้างานสะอาดไม่เลอะเทอะ
อันเนื่องจากข้อแรกคือการไม่มีวัสดุเหลือทิ้ง ทำให้ไม่ต้องมีการกองวัสดุลงบนพื้น การผสมปูนที่ไซต์งานหรือหน้าบ้านที่ต้องการเทคอนกรีต เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการกรีดถุงปูน ฉีดน้ำ ตักหิน ทรายใส่โม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมด นอกจากจะทำให้หน้าบ้านหรือพื้นที่ก่อสร้างเลอะเทอะแล้วยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ที่เป็นผลเสียต่อผู้อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย ดังนั้นการใช้คอนกรีตผสมเสร็จจะลดปัญหาเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงเนื่องจากกระบวนการผสมคอนกรีต หรือ ผสมปูนผสมเสร็จนั้น เกิดขึ้นที่โรงงานเรียบร้อยแล้ว
3. ได้คุณภาพ ได้มาตรฐาน
เนื่องจากการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จนั้นผลิตโดยเครื่องจักรอัตโนมัติ ควบคุมส่วนผสมโดยวิศวกร และทดสอบคุณภาพด้วยหน่วยงานสถาบันการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จจากโรงงานนั้น ได้คุณภาพเที่ยงตรงทุกคิว ซึ่งต่างจากการผสมมือที่หน้างานซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ของช่างก่อสร้างในการคาดเดา สัดส่วนผสมคอนกรีต ซึ่งอาจจะไม่แม่นยำ ทำให้คอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างในอนาคตอย่างมีนัยยะสำคัญ
4. ราคาถูกกว่า
สมัยก่อนนั้นการใช้คอนกรีตผสมเสร็จ จำเป็นต้องแลกข้อดีดังที่กล่าวมาทั้งหมด ด้วยราคาที่สูงกว่า แต่เนื่องจากปัจจุบัน ผู้รับเหมาก่อสร้างทุกรายหันมาใช้คอนกรีตผสมเสร็จ หรือ ปูนซีแพคกันเกือบทั้งหมด ทำให้ราคาปูนผสมเสร็จ ลดลงอย่างมาก อันเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ใช้คอนกรีตจำนวนมาก จะสามารถขอราคาส่วนลดโครงการได้ เมื่อเทียบกับการผสมเองแล้วราคาหรือถูกกว่าพอสมควร
5. ลดจำนวนแรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย
การที่คุณผู้อ่านไม่ต้องจ้างช่างในการผสมปูนที่หน้างาน ทำให้สามารถลดจำนวนคนลงได้ อาจจะใช้แค่คนงานหรือช่างปาดปูน 2-3 คนเท่าที่จำเป็นก็สามารถทำให้งานเสร็จได้อย่าง เรียบร้อยมีคุณภาพ
6. ทำงานได้รวดเร็ว
เนื่องจากคอนกรีตที่ผสมโดยเครื่องจักรและจัดส่งโดยรถโม่ปูน มีศักยภาพที่จะจัดส่งได้ ตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งต่างจากการผสมมือ ที่จะต้องผสมปูนทีละโม่ ฉีกปูนทีละถุง ตักทรายทีละกระบะทำให้การทำงานนั้นช้ากว่าเป็นอย่างมาก
7. สะดวกทั้งผู้รับเหมาและเจ้าของบ้าน
เจ้าของบ้านสะดวกไม่ต้องปวดหัวกับวัสดุเหลือทิ้ง ความสกปรก เลอะเทอะหน้างาน และกังวลกับคุณภาพการผสมปูน ส่วนผู้รับเหมาสะดวกไม่ต้องออกแรงเยอะ ลดจำนวนคนงาน ใช้แรงงานมีฝีมือเท่าที่จำเป็น ทำให้งานมีประสิทธิภาพและผลงานออกมาดีกว่า
8. ลดการวางแผน
การจะผสมคอนกรีต หรือผสมปูนด้วยตัวเองนั้น ผู้รับเหมาหรือเจ้าของบ้าน จำเป็นต้องเตรียมวัสดุทั้งหิน ทราย ปูน น้ำ ให้พร้อม เพื่อใช้ในการผสม ต้องวางแผนว่าจะเก็บวัสดุอย่างไร กรณีฝนตก วางแผนว่าจะต้องสั่งหินทรายเท่าไร จึงจะพอดี แต่การใช้คอนกรีตผสมเสร็จ หรือปูนผสมเสร็จสมัยนี้ เพียงแค่ท่านผู้อ่านยกหูโทรศัพท์ หรือแชตหาเรา ปูนก็มาส่งถึงบ้านได้ทันที ไม่ต้องเตรียมการใดๆให้ยุ่งยาก