คำแนะนำการเทคอนกรีตฯ?
คำแนะนำ "ก่อน" เทคอนกรีต
(การเตรียมหน้างาน)
1.ถนนทางเข้าหน้างานต้องกว้างประมาณ 4 เมตร ช่วงโค้งกว้าง 6 เมตร และความสูงต้องไม่มีสิ่งกีดขวางด้านบนอย่างต่ำ 4 เมตร เป็นพื้นหินคลุกหรือลูกรังบดอัดแน่น กรณีเป็นรถโม่เล็กต้องมีความกว้าง 3 เมตร ช่วงโค้ง 4 เมตร ความสูงซึ่งไม่มีสิ่งกีดขวางด้านบนอย่างน้อย 3 เมตร
2.กรณีที่รถไม่สามารถเข้าถึงสถานที่เทคอนกรีตให้แจ้งบริษัทเพื่อจัดเตรียมรางต่อยาวไปหรือ หน้างานควรเตรียมกระบะรองรับขนาด 0.5-1 ลบ.ม. ไว้รองรับคอนกรีต พร้อมกระป๋อง พลั่ว จอบ และรถเข็นไว้ลำเลียง
3.ควรใช้คอนกรีตให้หมดภายใน 2 ชม. หลังผลิตคอนกรีตจากโรงงาน เพื่อรักษาคุณภาพคอนกรีต
4.การเข้าแบบหล่อคอนกรีตควรจะทำหลักยึดหรือค้ำยันให้แน่นหนาแข็งแรง เพื่อป้องกันแบบหล่อคอนกรีตแตก เนื่องจากคอนกรีตมีน้ำหนักมาก จึงควรเผื่อการรับน้ำหนักมากกว่าปกติ
5.แบบหล่อคอนกรีตควรที่จะทาน้ำมันให้ทั่ว เพื่อให้ผิวคอนกรีตมีความเรียบเนียนสวยงาม แกะแบบง่าย
6.กรณีเป็นการเทอยู่บนที่สูง ตั้งแต่ชั้นที่สองเป็นต้นไป ควรวางแผนในการเทคอนกรีต เช่นเช่ารถเครน หรือรถปั๊มคอนกรีต เพื่อให้การเทคอนกรีตเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น ปูนไม่หมดอายุในขณะเท
คำแนะนำ "ระหว่าง" เทคอนกรีต
1.ตรวจสอบใบส่งสินค้าทันทีที่รถโม่ปูนมาถึงหน้างาน ตรวจเช็คกำลังอัด และจำนวนว่าตรงกับที่สั่งไว้ ก่อนเริ่มเทคอนกรีตฯทุกครั้ง หากไม่ตรงให้ระงับการเท แล้วโทรแจ้งบริษัทฯทันที
2.คอนกรีตผสมเสร็จมีอายุการใช้งาน 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาผสมออกจากโรงงาน ภายหลังจาก 2 ชั่วโมงแล้วคอนกรีตจะเริ่มก่อตัวแข็ง และจะไม่สามารถไหลตัวได้ ดังนั้นควรจะวางแผนการเทคอนกรีตให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ชั่วโมง
2.คอนกรีตผสมเสร็จมีอายุการใช้งาน 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาผสมออกจากโรงงาน ภายหลังจาก 2 ชั่วโมงแล้วคอนกรีตจะเริ่มก่อตัวแข็ง และจะไม่สามารถไหลตัวได้ ดังนั้นควรจะวางแผนการเทคอนกรีตให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ชั่วโมง
3.ไม่ควรปล่อยคอนกรีตฯไหลตกจากที่สูงเกิน 2 เมตร ควรจะมีรางรองรับจนคอนกรีตตกสู่พื้น เพื่อป้องกันการแยกตัว
4.ห้ามผสมน้ำเพิ่มระหว่างที่มีการเทคอนกรีตฯเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้สูญเสียกำลังรับแรงอัดของคอนกรีต
5.ในระหว่างเทคอนกรีตฯ ควรจี้เขย่าให้ทั่วแบบหล่อเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในเนื้อคอนกรีต
6.ควรบ่มน้ำอย่างน้อย 7 วัน หลังเทคอนกรีตฯ เพื่อความแข็งแรงมากขึ้นของคอนกรีต
คำแนะนำ "หลัง" เทคอนกรีต
ควรบ่มน้ำอย่างน้อย 7 วัน
หลังจากที่เทคอนกรีตผสมเสร็จแล้ว สิ่งสำคัญอย่างนึงซึ่งช่างจำนวนมากมักจะละเลยไปนั่นก็คือการบ่มคอนกรีตด้วยน้ำ การบ่มคอนกรีตเป็นการควบคุมและป้องกันมิให้น้ำในคอนกรีตระเหยออกจากคอนกรีตเร็วเกินไป เนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดสำหรับปฏิกิริยาไฮเดรชั่นของคอนกรีต ถ้าหากน้ำระเหยออกหมดนั้นจะทำให้ปฏิกิริยาไฮเดรชั่น เกิดไม่สมบูรณ์ หรือนั่นหมายถึงว่า ยังเหลือสารตั้งต้นอยู่ในระบบ ซึ่งยังไม่เกิดปฏิกิริยาเลย และไม่มีน้ำไปผสมให้เกิดปฏิกิริยา ก็จะทำให้ กำลังของคอนกรีตขึ้นไม่สุดจากที่ออกแบบไว้ นั่นเอง การบ่มคอนกรีตมี 2 ประเภทคือ
1.การบ่มคอนกรีตแบบให้น้ำ เป็นการบ่มซึ่งจะต้องทำให้ผิวคอนกรีตมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เช่นการบ่มคอนกรีตด้วยการคลุมกระสอบทราย การบ่มด้วยการแช่ในน้ำ ฯลฯ การบ่มด้วยวิธีนี้มักจะทำกับการบ่มพื้นคอนกรีต แต่จะไม่สามารถบ่มกับเสาและคานได้
2.การบ่มคอนกรีตแบบป้องกันการสูญเสียน้ำ เป็นการบ่มซึ่งจะป้องกันน้ำระเหยออกจากผิวคอนกรีต เช่นการนำพลาสติกมาหุ้มเสาคอนกรีต หรือคานคอนกรีต เอาไว้ ซึ่งเสาหรือคานนั้นเราไม่สามารถบ่มคอนกรีตด้วยการให้น้ำได้